หุ้นตกทำอย่างไร นอกจากทำใจ
สวัสดีครับผู้อ่านทุกคน หลังจากที่เรามีความสุขกับตลาดขาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว จากดัชนีราว 1200 จุด ไปสูงสุดที่ราว 1550 จุด จนล่าสุดเริ่มมีกูรูหลายคนในระดับโลกหรือในระดับประเทศพูดเรื่องการปรับฐานของตลาด ตลาดจะปรับฐานจริงไหม ตลาดจะเป็นขาลงจริงไหม ผมตอบได้คำเดียวว่า “ไม่รู้” หากคุณรู้ช่วยบอกผมด้วย (ฮ่าๆ)
ดังนั้นเราอย่ามามัวคาดการณ์สิ่งที่เราไม่รู้ดีกว่าครับ เรามาดูแผนรับมือกันว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างหากต้องพบเจอกับตลาดขาลง
อย่างแรกเลย เงินสดในมือจะเป็นตัวแบ่งนักลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม คือเป็นนักลงทุนที่ถือเงินสดมาก, ปานกลาง, และน้อย ตามลำดับ ซึ่งพวกที่ถือเงินสดน้อย(อัดหุ้นเต็มพอร์ต) ก็ยังแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยอีกคือ หุ้นที่ถืออยู่มีกำไร หรือกำลังขาดทุน(เพราะซื้อที่ยอดดอย) ซึ่งนักลงทุนแบบต่างๆนั้นก็จะมีการรับมือที่ต่างกันออกไป
ในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงวิธีการปฏิบัติตัวของนักลงทุนที่ถือหุ้นเต็มพอร์ตที่ตอนนี้กำลังขาดทุนอยู่ ก็เพื่อเป็นการดึงสติให้กลับมาอยู่กับร่องกับรอย ส่วนนักลงทุนที่กำลังถือเงินสดรอโอกาสก็สามารถอ่านไว้ได้ เพราะในช่วงชีวิตของนักลงทุนสักคนก็น่าจะต้องเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้สักครั้งหนึ่งครับ
หุ้นตกทำอย่างไรดีนอกจากทำใจ?
1. ทำใจ
ใช่ครับทำใจก่อน เพื่อตั้งสมาธิให้ไม่ด่วนตัดสินใจทำอะไรแบบไม่ทันคิด เช่น ขายหุ้นทันทีเมื่อราคาตกลงมา หากเราไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า การขายหุ้นทันทีเมื่อราคาลงเป็นการสร้างนิสัยเสียของนักลงทุนอย่างมาก ถึงแม้บางครั้งการดึงตัวเองออกมาจากตลาดหุ้นเพื่อตั้งสมาธิจะทำให้เราขาดทุนเพิ่มขึ้น แต่เราต้องให้เวลากับการใช้สมองมากกว่าใช้อารมณ์
ท่องในใจว่านี่คือธรรมชาติตลาดหุ้นเราหลีกหนีอะไรไม่ได้ หากเราต้องการเป็นนักลงทุน นี่คือสิ่งที่ต้องเจอในชีวิตอยู่เป็นประจำ เมื่อตั้งสติได้แล้วก็ไปยังข้อต่อไป
2. หาคำตอบว่าหุ้นลงเพราะอะไร
ทุกการลงหรือขึ้นของหุ้นล้วนต้องมีสาเหตุ การที่ราคาลงนั้นเป็นปัจจัยเฉพาะตัวหรือเป็นทั้งตลาด ถ้าเป็นปัจจัยเฉพาะตัวเราก็ต้องรีบหาสาเหตุนั้น หรือหากเป็นปัจจัยตลาดก็ต้องสังเกตว่าหุ้นของเรานั้นลงหรือลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
3. ประเมินมูลค่าซ้ำ
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าจะให้ประเมินซ้ำอย่างไร ในเมื่อตอนซื้อไม่ได้ประเมินมูลค่าเลย (แหนะ!!) ถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้น นักลงทุนก็ควรต้องกลับไปถามตัวเองว่าซื้อหุ้นเพราะอะไรกันแน่ หรือหากใครซื้อเพราะรู้ว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดี แต่ยังไม่เคยประเมินตัวเลขออกมาก็ควรใช้โอกาสนี้เรียนรู้ในการประเมินมูลค่าหุ้นเสียเลย
ในเรื่องของการประเมินมูลค่านั้น หากเป็นปัจจัยเฉพาะของหุ้นตัวนั้น เราก็นำสาเหตุที่ทำให้หุ้นลงนั้นเข้ามาปรับแก้สมมติฐานตามโมเดลที่เรามีไว้ก่อนหน้าเพื่อหามูลค่าออกมา
หากเป็นปัจจัยตลาดนั้น นักลงทุนหลายคนอาจจะตกม้าตายด้วยการคิดว่าการที่หุ้นลงทั้งตลาดนั้นเป็นการขายทำกำไร ไม่ได้กระทบอะไรกับมูลค่าของบริษัทเลย คำกล่าวนี้อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้
ผมขอขยายความเรื่องนี้ขึ้นอีกหน่อยว่าทำไมบางครั้งการที่ตลาดลง หุ้นของเราถึงมีมูลค่าลดลง กรณีนี้จะเป็นจริงเมื่อตลาดที่ลงนั้นเกิดจากผลกระทบของ “อัตราดอกเบี้ย”
ช่วงนี้นักลงทุนที่ตามข่าวอาจจะได้ยินข่าวเรื่อง ผลตอบแทนพัทธบัตร 10 ปีสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นทำให้ตลาดหุ้นตกลงมา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเงินนั้นจะไหลจากที่ที่มีผลตอบแทนต่ำไปยังที่ที่มีผลตอบแทนสูง
เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น มูลค่าของบริษัทจะลดลงทันที เพราะ 1. ดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัทสูงขึ้น 2. ต้นทุนเงินทุนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง มูลค่าของบริษัทก็จะเปลี่ยนแปลงตาม นั่นคือนักลงทุนจะไม่สามารถคิดว่าพื้นฐานบริษัทยังไม่เปลี่ยนดังนั้นมูลค่าของบริษัทก็ต้องคงเดิม “ทั้งๆที่ดอกเบี้ยกำลังปรับสูงขึ้น” ดังนั้นจึงต้องประเมินมูลค่าซ้ำด้วยการปรับแก้ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย หากนักลงทุนคนใดใช้ P/E ในการประเมินราคาก็จำเป็นต้องปรับ P/E ลง เพราะ Earning Yield ของหุ้นนั้นก็น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนั่นเอง
4. เปรียบเทียบราคาปัจจุบัน กับมูลค่าที่ประเมินใหม่
หากราคายังต่ำกว่ามูลค่าอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร หากราคาสูงเกินมูลค่าเราก็จำเป็นต้องขายออกแม้จะขาดทุน
5. มองหาโอกาสที่ดีกว่า
ถึงแม้หุ้นที่เราถืออยู่นั้นจะยังมีราคาต่ำกว่ามูลค่าอยู่ก็ตาม แต่ในภาวะที่ตลาดเป็นขาลง บางครั้งหุ้นบางตัวอาจสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการรอหุ้นตัวเดิมในพอร์ทของเราปรับตัวกลับขึ้นมา เราก็ควรใช้จังหวะนั้นในการย้ายตัวถือ เมื่อตลาดหุ้นปรับขึ้นมาเราอาจจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการกอดหุ้นตัวเดิมๆก็เป็นได้ครับ
ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาเป็น 5 ข้อที่ผมใช้อยู่เป็นประจำ หากใครคิดว่าดีก็นำไปใช้ตามกันได้ หากใครมีเทคนิคที่ดีกว่าก็สามารถแนะนำกันได้ครับ
ขอให้มีความสุขกับการลงทุนครับ
ขอบคุณครับ