ถึงเวลา “แลกเงินเยน” หรือยัง?

 

ข้อมูล:  ราคาปิด THB/JPY  tradingview.com/chart

 

ทำไม? เงินเยนถึงมีค่าอ่อนจังเลย…

พี่ๆ เพื่อนๆ ที่วางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่นตอนปลายปีนี้
และกำลังจดๆๆ จ้องๆๆ ว่า เมื่อไหร่? ควรจะแลกเงินเยนซักที 

จริงๆแล้ว เราอาจจะต้องเข้าใจกลไกของตลาดเงินกันเสียก่อน  

ถ้าเอาแบบง่ายๆ มันเกี่ยวพันกันแค่ 2 ประเทศเทศเอง

ผมจึงขอโอกาสรวบรวมข้อมูลเท่าที่หาได้ มาแบ่งปันกันให้อ่านกัน ดังนี้นะครับ…

 

หนึ่ง อเมริกา ต้นเหตุการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก

อเมริกา ประเทศนี้มันเป็นประเทศที่พยายามสร้างเงินของตัวเอง…ให้เป็น World Currency หรือ เงินของโลก 

  • ปี 2487  อเมริกาทำสัญญากับอีก 43 ประเทศ บอกว่า เงินดอลลาร์จะมีทองคำค้ำประกัน ให้ทุกประเทศมาใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างประเทศ
  • ปี 2514   ประธานาธิบดีนิกสัน ในยุคที่อเมริกาไปแพ้สงครามเวียดนาม ไม่มีทองคำมาแบ็กเงินดอลลาร์อีกแล้ว (จริงๆ…น่าจะมีทองคำไม่พอมานานแล้ว) ก็ออกมาประกาศว่า จากนี้ไปเงินดอลลาร์จะไม่ต้องใช้ทองคำแบ็กอีกแล้ว นั่นหมายถึง อเมริกาจะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเท่าไรก็ได้…เหมือนแบงก์กงเต็กเลย

หลังจากนั้นวันนั้นมา อเมริกาก็พิมพ์เงินออกมามากมายมหาศาลจนทำให้…เงินท่วมโลก ดังรูป

ซึ่งคาดว่ามีเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบน่าจะมากถึง 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ 

อเมริกาใช้เงินเหล่านี้แก้ปัญหาเศรษฐกิจมากมาย เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตโควิด โดยใช้เงินเข้าไปอัดฉีดเศรษฐกิจ

หลังวิกฤตโควิด เศรษฐกิจร้อนจัดจนควบคุมไม่อยู่ และพอดีมีสงครามยูเครน เลยยิ่งทำให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง หรือปัญหาเงินเฟ้อนั่นเอง 

วิธีแก้ของแพงทางเศรษฐกิจที่ง่ายที่สุด แต่รุนแรงที่สุด ก็คือให้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ธนาคารในประเทศต้องพากันขึ้นดอกเบี้ยตาม ของแพง..คนซื้อน้อยลง ของ..ก็ขึ้นราคาไม่ได้

ทุกวันนี้ อเมริกา จึงตั้งหน้าตั้งตาขึ้นดอกเบี้ยมันลูกเดียว เพราะ….จะเอาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด นั่นเอง

 

สอง ญี่ปุ่น รัฐบาลหนี้ท่วมหัว เอาตัวรอดด้วย..ดอกเบี้ยต่ำ

ญี่ปุ่นเอง มีปัญหาตั้งแต่ปี 2528  เพราะอเมริกาขาดดุลญี่ปุ่นเยอะ เพราะตอนนั้นสินค้าญี่ปุ่นขายดีไปทั่วโลก เช่น โตโยต้า โซนี่ พานาโซนิค อเมริกาก็หาวิธีแกล้งญี่ปุ่น โดยการจัดประชุมกลุ่ม G5 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น แล้วทำข้อตกลงพลาซ่า โดยให้ทั้งห้าประเทศทำการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อให้เงินเยนและเงินมาร์คแข็งค่า จะได้ขายสินค้าไปต่างประเทศได้น้อยลง

หลังจากนั้นสามปี เงินเยนแข็งค่าเป็น 2 เท่า ญี่ปุ่นจึงต้องย้ายฐานออกนอกประเทศ เพราะค่าแรงในประเทศที่ต้องจ่ายด้วยเงินเยน ก็เท่ากับค่าแรงต้องจ่าย 2 เท่า จากวันนั้นถึงทุกวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นแทบจะไม่เติบโตเลย เพราะค่าแรงแพง และคนแก่เกือบ 25% ของประเทศ รัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจดี ก็กู้เงินภายในประเทศ เอามาอัดฉีดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเอง แต่อัดฉีดมากว่า 30 ปีแล้ว เศรษฐกิจก็ยังเติบโตเท่าไหร่ แต่หนี้ที่ยืมประชาชนมาซิ..มันใหญ่มหึมาจนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีอัตราหนี้สาธณะ (หนี้รัฐบาล) ต่อ GDP สูงที่สุดในโลกคือ กว่า 200% ของ GDP ดังภาพ

แบงก์ชาติญี่ปุ่นจึงต้องออกนโยบายดอกเบี้ยต่ำๆ เพื่อให้รัฐบาลที่มีหนี้สินสูงท่วมหัว…ไห้ได้จ่ายดอกเบี้ยสูงที่สุด

 

สาม เงินเยนคงต้องอ่อนค่าไปอีก…นานแสนนานนนน

ขณะที่อเมริกาต้องขึ้นดอกเบี้ยครั้งแล้วครั้งเล่า ญี่ปุ่นกลับคงอัตราดอกเบี้ยไว้เตี้ยติดดินที่ 0.25-0.50%  เงินจึงไหลจากดอกเบี้ยต่ำไปดอกเบี้ยสูง เม็ดเงินจึงไหลจากญี่ปุ่นไปเข้าอเมริกาจำนวนมหาศาลด้วยเหตุนี้

ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ แบงก์ชาติญี่ปุ่นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายดอกเบี้ยต่ำอยู่ ในขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติอเมริกากลับใช้นโยบายแข็งกร้าวจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงต่อไป

 

แล้วจะทำยังไงดี? ปลายปีนี้…จะไปเที่ยวแล้ว

ถ้าเป็นผม…  ผมคงทยอยซื้อไปเรื่อยๆนะครับ เพราะตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนก็ทะลุ 140 เยนต่อดอลลาร์ไปแล้วครับ แนวโน้มก็น่าจะทะลุขึ้นไปอีกกกก   แต่เผื่อมันซะหน่อย… เราก็ทยอยซื้อไปเรื่อยๆ ก็น่าจะดีนะครับ

อ.วี