ลงทุน แบบเงินต้นอยู่ครบ

สวัสดีครับคุณผู้อ่าน…

ก่อนอื่น ผมขอแนะนำตัวผมเองก่อนนะครับ ผมชื่อ ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์ เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นผู้อำนวยการโครงการนักลงทุน CSI

ผมเองเป็นคนที่อยู่ในวงการนักลงทุนมาเป็นเวลานานมากน่าจะกว่า 30 ปี ทุกวันนี้…ก็ยังลงทุนอยู่ แต่ไม่กล้ารับคำชมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเซียน กูรู ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ  แต่อยากนิยมตัวเองว่า “ผู้ถูกโฉลกกับการลงทุน และ…ความเสี่ยง”

ดังนั้น ถ้าคุณผู้อ่านคิดว่า ตัวเองเป็นประเภทเดียวกับผม ผมก็อยากเชิญชวนให้ทุกท่านให้มาอ่านเนื้อหาในบทความนี้ ซึ่งเกี่ยวกับการลงทุนล้วนๆ ดังนี้ครับ

1 ส่วนผสมทางเคมี 4 อย่างของนักลงทุน

ผมเป็นคนที่ชอบใช้คำว่า “เคมี” มาก เวลาเจอใครที่คุยกันแล้วสนุก..ถูกปากถูกคอ ผมก็มักจะบอกว่า “ผมมีเคมีตรงกันกับพี่” เป็นต้น เช่นเดียวกันครับ ก่อนที่เราจะคุยกันเรื่องการลงทุน เราอาจจะต้องคุยกันเรื่อง “ส่วนผสมทางเคมี 4 อย่าง” ที่จะพิสูจน์ว่า “คุณผู้อ่านเหมาะจะเป็นนักลงทุนหรือไม่?” และ “คุณผู้อ่านจะเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาดและเก่งกาจในอนาคตหรือไม่”?

จาก เซนติเมตร (CM) ไปสู่…กิโลเมตร (KM) ….CMKM

ตัวย่อของส่วนผสมทางเคมี 4 อย่าง ที่ผมอยากจะคุยให้ฟังก็คือ CMKM  โดย C คือ Connection (มีเพื่อนที่เป็นนักลงทุนเยอะ)  M คือ Money (จำนวนเงินที่จะนำไปลงทุน)  K คือ Knowledge (ความรู้ในการลงทุนสินทรัพย์ประเภทนั้นๆ)  และสุดท้าย M คือ Mindset (สภาพจิตใจที่เหมาะกับการลงทุนในทรัพย์สินนั้นๆหรือไม่?)

มาดูทีละตัวกันนะครับ

  • Connection หมายถึง การลงทุนทุกประเภทนั้นมันมีความสลับซับซ้อนในแต่ละเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการที่เรามีเพื่อนฝูง หรือเข้าคอร์สเรียนบ่อยๆ ก็จะทำให้เรามีความสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ และนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ๆที่ไม่มีในตำรา โดยเฉพาะการลงทุนระยะสั้นที่ต้องการความรวดเร็วในการตัดสินใจ ดังนั้นการที่คุณผู้อ่าน…เอาแต่อ่านหนังสือ ดูวีดีโอ ศึกษาทุกอย่างด้วยตัวเอง ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้มาก แต่ถ้าเริ่มไปเรียนการลงทุน หุ้น ตราสารหนี้ อื่นๆ ก็จะทำให้ได้เพื่อนฝูง ซึ่งอาจทำเงินได้มากกว่าค่าคอร์สที่ไปเรียนเสียอีก
  • Money หมายถึง จำนวนเงินที่ไปลงทุน เช่น นำเงินไปลงทุน 1 ล้านบาทมากไหม?  คนบางคนมีเงิน 10 ล้านบาท ก็อาจจะบอกว่า “มันมากไปหรือเปล่า?”  ส่วนคนบางคนมีเงิน 1,000 ล้านบาท คนๆนั้นก็อาจจะบอกว่า “มันน้อยหรือเปล่า?” ดังนั้นจำนวนเงินเท่าโน้น…เท่านี้…จึงไม่สำคัญ แล้วอะไรที่สำคัญล่ะ? นั่นคือ จำนวนเงินที่นำไปลงทุนแล้ว ขาดทุนเต็มพิกัดแล้ว คุณยังนอนหลับได้อย่างสบาย เช่น นำเงินไปฝากประจำที่ธนาคาร ได้อัตราดอกเบี้ย 2% ผ่านไปไม่กี่เดือน ดอกเบี้ยเหลือ 1% คุณก็ยังหลับได้  ลงทุนหุ้นตัวใหญ่ๆที่ผลประกอบการดี (Blue Chip) ให้ปันผลประมาณปีละ 5% พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ปันผลไม่มี ราคาหุ้นลงไป 50% ถึงขนาดนี้แล้ว…คุณก็ยังนอนหลับได้   แสดงว่า คุณลงทุนไปในจำนวนเงินที่ถูกกับเคมีของตัวคุณ  เพราะพอเจอกับวิกฤต ผลตอบแทนไม่เหลือ แถมยังขาดทุนบักโกรกอีก คุณก็ยังนอนหลับได้
  • Knowledge ความรู้ในการลงทุน แต่ก่อนผมคิดว่า ความรู้ที่หาได้ดีที่สุดคือ การอ่านหนังสือ และการดูวีดีโอ  แต่ช่วงหลังผมกลับค้นพบว่า การไปลงเรียนคอร์สโน้นคอร์สนี้ โดยก่อนจะไปเรียน ก็ศึกษาหาความรู้ไว้ก่อน พอไปเรียนแล้ว..ก็กลับมาทบทวน กลับมีความรู้สึกว่า ตัวเราเองพัฒนาไปได้เร็วกว่ามาก ดังนั้น ผมจึงคิดว่า ปัจจุบันนี้การเรียนรู้ด้วยตนเอง ควรจะทำควบคู่ไปกับการออกไปเรียนคอร์สต่างๆที่ตรงกับการลงทุนที่เราชอบ น่าจะเป็น “ทางลัด” ที่รวดเร็ว คุ้มค่า และอาจให้ผลตอลแทนมากกว่าค่าคอร์สเสียอีก
  • Mindset ข้อนี้..ผมว่าสำคัญที่สุดครับ คนเรามีหลายประเภท บางคนซื้อหุ้น ขาดทุนไป 5%..ก็นอนไม่หลับแล้ว บางคนฝากเงินประจำให้อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ฝากไปได้ 6 เดือน ก็ต้อนถอนออกมา เพราะทนกับระยะเวลานานๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต่ำมากไม่ได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า เคมีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบฝากเงิน แล้ว

2 ลงทุนสินทรัพย์อะไรดี? …ที่เหมาะกับเรา

เราผ่านหัวข้อแรกกันมาแล้วนะครับ ตอนนี้เราจะไปดูกันว่า สินทรัพย์ที่เราจะไปลงทุนมีอะไรบ้าง? ซึ่งผมขอแบ่งสินทรัพย์ที่เราจะไปลงทุนออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

2.1 สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ สินทรัพย์ประเภทนี้ โดยทั่วไปจะต้องไม่เกิดการขาดทุนเลย นั่นหมายถึงทุนที่ลงไปจะต้องอยู่ครบทุกบาท และที่คุณผู้อ่านมักจะพบกันบ่อยๆ จะมีดังนี้คือ การฝากเงินธนาคาร พันธบัตร และหุ้นกู้ เป็นต้น

2.2 สินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง หมายถึง การลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ที่อาจมีความเสี่ยงจนอาจทำให้คุณผู้อ่านสูญเสียเงินต้นไปได้ ซึ่งการสูญเสียเงินต้นหรือต้นทุนนี้ อาจทำให้สูญเสียบางส่วน หรือสูญเสียหมดทั้งจำนวนเลยก็เป็นได้ เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนต่างๆ เป็นต้น

2.3 สินทรัพย์เสี่ยงสูง หมายถึง สินทรัพย์ที่มีโอกาสให้กำไรเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้สูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน นอกจากนั้นอาจจะยังทำให้มีโอกาสเกิดหนี้สินจากการลงทุนได้อีกด้วย เช่น การลงทุนในอนุพันธ์ (Derivatives)  การลงทุนในการเทรดอัตราแลกเปลี่ยน (Forex Trading) เป็นต้น

ในบทความนี้… เพื่อให้คุณผู้อ่านได้ศึกษาแบบง่ายๆ กันเสียก่อน ผมก็จะคุยให้ให้ฟังเฉพาะหัวข้อ 2.1 เท่านั้น นั่นคือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือ ลงทุนแบบ…เงินต้นอยู่ครบ (ในภาวะปกติ) เท่านั้น โดยมีหัวข้อดังนี้ครับ

  1. การฝากเงินธนาคาร

จะเป็นวิธีการลงทุนที่ง่ายๆ แบบบ้านๆ ซึ่งก็คือการฝากออมทรัพย์ หรือฝากประจำที่ธนาคารนั่นเอง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะอยู่ระหว่าง 0.25 – 2.00% อาจจะมากน้อยกว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในเวลานั้นๆ คราวนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า แล้วจะรู้ได้ไงว่า? แบงก์ไหน?ให้อัตราดอกเบี้ยเท่าไร? นานเท่าไร?

ถ้าจะเช็คกันง่ายๆมีให้ดูด้วยกันหลายเว็บ แต่เว็บที่น่าเชื่อถือมากที่สุดก็คือ เว็บของธนาคารแห่งประเทศไทย คุณผู้อ่านสามารถคลิกลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ…