อะไรคือเหตุผลของการ “ทนจนไม่ทนรวย” ในนักลงทุน

“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

โดย ธนบูรณ์ งามศรีเทพฤทธิ์ แอดมินเพจ เล่นหุ้นด้วยทุนเมีย

ในตลาดหุ้นนั้นเหมือนกับสงครามระหว่างความคิดของคนนับล้านที่มีความเห็นไม่ตรงกัน นักลงทุนหลายคนมักมุ่งประเด็นความสนใจไปที่การ”รู้เขา” ในที่นี้คือการศึกษาสภาพตลาด การศึกษาตัวธุรกิจ หรือการศึกษากราฟ แต่นักลงทุนหลายคนไม่เคย “รู้เรา” ซึ่งคือการเข้าไปศึกษาตนเองในทางจิตวิทยาว่าการตัดสินใจของตนเองเกิดจากอะไร เบื้องหลังการตัดสินใจเช่นนั้นเป็นเพราะอะไร การขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปย่อมทำให้ผลตอบแทนออกมาไม่ดีหรือกระทั่งขาดทุนได้

วันนี้ผมจะขอพูดเรื่องที่นักลงทุนมือใหม่แทบทุกคนต้องประสบพบเจอ ซึ่งผมขอเรียกภาวะนี้ว่าการ “ทนจนไม่ทนรวย” คือสภาวะที่คนเรามีแนวโน้มที่จะถือหุ้นที่มีผลขาดทุนไว้นานเกินไป ในขณะที่ขายหุ้นที่มีกำไรเร็วเกินไป ภาวะเช่นนี้มีอธิบายในวิชาการเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) เรียกว่า Disposition Effect ซึ่งเกิดจากคนเรารู้สึกเสียใจจากการขาดทุนมากกว่ารู้สึกดีใจจากการได้กำไรในจำนวนเงินที่เท่ากัน

ถ้าเรามีหุ้นสองตัว ตัวแรกกำไร 30% ตัวที่สองขาดทุน 30% หากเราต้องเลือกขาย 1 ตัวออกไป เราจะขายตัวไหน? คำตอบคือคนส่วนใหญ่เลือกที่จะขายหุ้นตัวที่มีกำไรออกมา และถือหุ้นที่ยังขาดทุนไว้เพื่อหวังให้ราคาปรับตัวกลับมาเท่าทุนและขายมันออกไปซะ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้นักจิตวิทยาได้อธิบายไว้ว่า นักลงทุนจะรู้สึกแย่กับกำไรที่เสียไป 1 หน่วย มากกว่ารู้สึกดีจากการได้กำไร 1 หน่วย (หากวัดความรู้สึกเป็นตัวเลขได้ และให้การรู้สึกเฉยๆ = 0) เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติว่าวันนี้จู่ๆ แม่ก็เดินมาให้เงิน 1000 บาท เราจะรู้สึกดีใจแต่ไม่นาน อาจจะแค่ 10 นาทีเท่านั้น แต่หากวันไหนเราทำเงินหาย 1000 บาท วันนั้นทั้งวันอาจจะทำให้เราคิดมากจนนอนไม่หลับ หากวัดกันในแง่ของเวลาก็พอจะบอกได้ว่าเราจมอยู่กับความเสียใจนานกว่าความดีใจ แม้จำนวนเงินที่ได้และเสียจะมีค่าเท่ากัน

แต่สิ่งที่น่าปวดหัวในตลาดหุ้นคือ การขาดทุนหุ้นที่เรายังไม่ขาย (Unrealized loss) เราจะไม่นับว่าเป็นการทำเงินหาย (ซึ่งไม่จริง) การขายหุ้นที่ขาดทุนทิ้งต่างหากที่เป็นการทำเงินหาย ดั่งคำที่ชาวดอยใช้ปลอบใจตัวเองว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” (ซึ่งไม่จริงอีกนั่นแหละ) นักลงทุนเลยมีแนวโน้มจะเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้กับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด ส่วนการขายหุ้นที่กำไรทำได้ง่ายกว่าเพราะทำให้เกิดความสุขได้ทันที

เนื่องจากคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น”ทุกคน”คิดว่าตนเองเก่งกว่าหรือมีโชคกว่าค่าเฉลี่ยของคนในตลาด อ่านถึงตรงนี้นักลงทุนหลายคนอาจจะค้านว่าไม่จริง แต่ผมขอตอบว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะถ้าคุณคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรืออับโชคกว่าคนส่วนใหญ่ คุณก็จะไม่เข้ามาในตลาดหุ้นตั้งแต่แรก

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากคุณต้องขายหุ้นที่ขาดทุนออกมา นั่นคือมันทำให้ตัวตนของเราที่เรายึดถือว่าเราเก่งกำลังถูกสั่นคลอนว่าแท้จริงแล้วเราเก่งหรือไม่เก่งกันแน่ ทำให้ความคิดเกิดความไม่ลงรอยกัน (Cognitive Dissonance)  เพราะเราไม่สามารถเป็นคนสองคนในเวลาเดียวกันได้ ดังนั้นเราจึงเลือกขายหุ้นที่มีกำไรออกมาเพื่อให้ตัวตนด้านความเก่งของเราชัดเจนขึ้น ส่วนหุ้นที่ขาดทุนนั้น เพื่อลดความขัดแย้งในตัวเอง สมองมนุษย์ก็ฉลาดมากพอที่จะใช้ขั้นตอนของกลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) เข้ามาช่วยเหลือสถานการณ์นี้ ซึ่งกลไกนี้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเพื่อลดสภาวะความเศร้าเสียใจ ความกดดัน ความสับสน เพื่อให้เราไม่จมอยู่กับความรู้สึกพวกนั้น และสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

นักลงทุนอาจตอบสนองได้หลายแบบ เช่น

1.การเก็บกด คือทำเป็นไม่สนใจหุ้นตัวนั้นไป

2.การแสดงปฏิกิริยาตรงกันข้าม เช่น การโชว์ตัวเลขขาดทุนใน Social media แล้วขึ้น Caption ที่มีอารมณ์ขัน

3.การโทษคนอื่น เช่น โทษว่าที่ตัวเองขาดทุนเป็นเพราะเจ้ามือ

เป็นต้น

 

แล้วเราจะทำเช่นไรเพื่อก้าวข้ามความคิดพวกนี้ไปได้

1.ทำความเข้าใจว่าการลงทุนย่อมมีผิดพลาดได้เสมอ ต้นแบบการลงทุนเน้นคุณค่าอย่าง Warren buffett ยังขายหุ้นสายการบินแบบขาดทุนมโหฬารไปเมื่อปีที่แล้ว

2.ฝึกเป็นคนรู้จักยอมรับผิด ยอมรับว่าการลงทุนที่ขาดทุนทุกครั้งเกิดจากตัวเราเอง แล้วนำประสบการณ์ที่ได้นั้นไปปรับใช้ในการลงทุนครั้งถัดไป

3.มีแผนการล่วงหน้าที่ชัดเจน ก่อนเข้าซื้อเราควรรู้ว่า เราจะ Cut loss ที่ระดับราคาใด ทำกำไรที่ราคาเป้าหมายใด หรือจะขายหุ้นออกมาเมื่อบริษัทไม่สามารถเติบโตตามเป้าหมาย ฯลฯ แผนการในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในตอนที่เรายังมีสติและเหตุผลครบถ้วนเพราะยังไม่ถูกกลไกป้องกันตนเองเข้ามาควบคุม

4.รู้เท่าทันจิตใจตัวเองว่ากำลังถูกอคติ (Bias) ใดๆ ครอบงำอยู่

การไม่ยอมขายขาดทุนนั้นแตกต่างจากการเฝ้ารอให้หุ้นที่ขาดทุนอยู่ปรับตัวขึ้นไปสู่ราคาเป้าหมายอยู่มาก เพราะอย่างแรกใช้เพียง “ความหวัง” ส่วนอย่างหลังใช้ “ความรู้+ความอดทน+ความหวังอีกนิดหน่อย”

—————————————————————————————————-

ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการลงทุน

ขอบคุณครับ